New-service-from-LINE-is-more-responsive-to-the-lifestyles

Share : facebook line twitter fb-messenger

บทความ บริการใหม่จาก LINE ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น

บทความ www.seolnwza.com



หากพูดถึง LINE แอปฯ แชทที่กำลังได้รับความนิยมคงไม่มีใครไม่รู้จัก ซึ่ง LINE ได้มีการปรับตัวค่อนข้างมากเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ ที่จะไม่ได้เป็นแค่ แชท แพลตฟอร์ม แต่จะกลายเป็นผู้ช่วยส่วนตัวที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของทุกคนได้ตลอด 24 ชั่วโมง (Life on LINE) โดยเน้น 3 นวัตกรรมใหญ่ คือ Offline, Fintech และ AI

 

เชื่อมโลกออนไลน์สู่ออฟไลน์ด้วย LINE Mini App

อาจจะฟังดูแปลก ๆ เพราะก่อนหน้านี้ LINE พยายามเปลี่ยนจากร้านค้าออฟไลน์ให้หันมาใช้งานออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้นด้วยการเปิดร้านขายของบน LINE@ แต่ในปี 2019 นี้ LINE กลับมองว่า ต้องผสมผสานระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อยกระดับบริการของร้านค้าให้หลากหลายมากขึ้น จึงได้เริ่มแนะนำ LINE Mini App ขึ้นมา เป็นตัวช่วยให้ร้านค้าสามารถผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ได้

 

ภายใน Mini App ร้านค้า หรือ SMEs จะสามารถสร้างหน้าร้านหรือหน้าเพจของแต่ละร้านขึ้นมา พร้อมเลือกนำฟีเจอร์ที่มีอยู่ใน LINE มาใช้งาน เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น การรับจองโต๊ะอาหาร การเก็บสะสมคูปอง ไปจนถึงร้านขายของสามารถเลือกใช้ LINE เป็นช่องทางชำระเงินเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันที รวมถึงการที่ร้านอาหารสามารถใช้เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารกับลูกค้าได้ด้วย ถือเป็นการเพิ่มความสามารถของ LINE@ ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น แนวทางดังกล่าวจะสอดคล้องกับสิ่งที่ LINE เรียกว่า OME หรือ Online Merges with Offline ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งาน LINEเป็นประจำได้รับความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น เพราะทุก ๆ อย่างสามารถจัดการได้ผ่านแอปพลิเคชัน LINE ที่คุ้นเคยกัน

 

ดิสรัปธุรกิจการเงิน

LINE ได้มองเห็นโอกาสในการรุกเข้าไปต่อเนื่องจากการทำ LINE Pay จุงโฮ ชิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม (CO-CEO) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE WOW ไลน์ คอร์ปอเรชั่น มองว่า เงินกลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันบริการทางการเงินที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ตอบโจทย์การใช้งานทั้งหมด สิ่งที่ LINE จะทำต่อไปคือ การเปลี่ยนสมาร์ทโฟนให้กลายเป็นธนาคาร โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีการใช้งาน LINE แพร่หลาย ทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน ไทย และอินโดนีเซีย ซึ่งเริ่มจากการประกาศเป็นพันธมิตรกับทาง VISA เพื่อทำตลาดในภูมิภาคเอเชีย เพื่อให้บริการ LINE Pay ในรูปแบบของบัตรเครดิต

นอกจากนี้ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา LINE ได้จับมือกับธนาคารกสิกรไทยในการพัฒนาบริการทางการเงินมาใช้งานโดยเฉพาะ เพียงแต่ว่าปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาคาดว่าจะเริ่มเห็นรายละเอียดส่วนนี้ชัดเจนขึ้นในช่วงปี 2020

 

ให้ความสำคัญเรื่องความเป็นส่วนตัว

ที่ผ่านมา LINE จะมีการเข้ารหัสข้อมูลการแชทต่าง ๆ พอหันมาให้บริการอื่น ๆ เพิ่มเติม จึงจะนำมาตรฐานความเป็นส่วนตัวมาใช้งานด้วยเช่นกัน โดยการเก็บข้อมูลทุกอย่างของ LINE ทำตามมาตรฐานของ GDPR รวมถึงกฎหมายของแต่ละประเทศที่ LINE เข้าไปให้บริการด้วย

 

Open Chat สื่อสารให้สนุกยิ่งขึ้น

อีกหนึ่งบริการที่ LINE ได้พัฒนาขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ใช้สามารถติดต่อกับผู้ที่ชื่นชอบเรื่องราวลักษณะเดียวกัน คือ Open Chat ที่ต่อยอดมาจาก LINE Square ในปัจจุบัน ด้วยการเปิดเป็นกลุ่มสาธารณะให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปพูดคุยกันได้ โดยจุดเด่นที่เห็นได้ชัดเจนคือ ผู้ใช้สามารถเลือกโปรไฟล์และชื่อเฉพาะในการเข้าไปใช้งานกลุ่มนี้ได้ และเมื่อเข้าไปแล้วก็สามารถหาอ่านเนื้อหาย้อนหลังตั้งแต่เริ่มกลุ่มนี้ได้ด้วย การเข้าใช้งาน Open Chat จะมีทั้งกลุ่มที่เป็นสาธารณะหรือกลุ่มปิดที่สามารถตั้งรหัสผ่าน หรือใช้ QR Code ในการเชิญเข้ากลุ่ม เพื่อให้สามารถควบคุมสมาชิกที่เข้ามาใช้งานได้

 

Sticker Premium ใช้รายเดือนแบบไม่จำกัด

เพิ่มบริการสมัครใช้สติ๊กเกอร์รายเดือนแบบไม่จำกัด (LINE Premium Sticker) ซึ่งมีโอกาสเข้ามาให้บริการในไทยช่วงปี 2020 เช่นเดียวกัน จากข้อมูลของ LINE ระบุว่าถ้าต้องการดาวน์โหลดสติ๊กเกอร์ทั้งหมดที่มีในเวลานี้ต้องใช้เงินราว 300 ล้านเยน แต่การเปิดให้บริการแบบรายเดือนผู้ใช้จะใช้เงิน 240 เยน หรือราว 70 บาทต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งรูปแบบการให้บริการของ Sticker Premium คือ เมื่อสมัครใช้งานแล้วจะสามารถดาวน์โหลดสติ๊กเกอร์มาใช้งานได้ทุกชิ้น และสามารถใช้งานไปได้ต่อเนื่องจนกว่าจะหยุดใช้งานแบบรายเดือน จะมีการทำราคาพิเศษให้แก่นักเรียนด้วย

 

เพิ่มเครื่องมือให้นักการตลาดด้วย Smart Channel

การนำ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลในหลาย ๆ ส่วน โดยเฉพาะในการนำ AI มาใช้คู่กับLINE News (ในไทยใช้ชื่อ LINE Today) เพื่อคัดกรองเนื้อหาที่เหมาะสมกับผู้ใช้งานแต่ละราย ทำให้ผู้ใช้งานแต่ละรายเมื่อเปิดหน้า LINE Today ขึ้นมา จะสังเกตได้ว่ามีการนำเสนอคอนเทนต์ที่ไม่เหมือนกัน เป็นการคัดเลือกเฉพาะบุคคล (Personalized) LINE จึงนำความสามารถตรงนี้มาช่วยเป็นเครื่องมือให้นักการตลาดด้วย พร้อมกับนำเสนอโฆษณารูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า Smart Channel จากเดิมในหน้าแชท จะมีการเลือกโฆษณา หรือเรื่องราวที่น่าสนใจขึ้นมาอยู่ส่วนบนสุด แต่หลังจากนี้จะเพิ่มช่องคอนเทนต์โฆษณาจุดนี้ในรูปแบบวิดีโอเข้าไปเพื่อทำให้เกิดความน่าสนใจมากขึ้น และยังมีโอกาสที่จะร่วมมือกับสำนักพิมพ์ หรือผู้ผลิตสื่อต่าง ๆ พัฒนาแพลตฟอร์มโฆษณาที่สร้างรายได้ให้แก่ทุกฝ่าย ด้วยการนำเทคโนโลยี AI ที่ LINE มีมาช่วยในการโฆษณาแบบเจาะจงกลุ่มผู้ใช้ด้วย

 

เรียกว่าเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของ LINE ในการพัฒนาบริการให้เข้าสู่ไลฟ์สไตล์ทุกอย่างของผู้บริโภคใน 24 ชั่วโมง เพราะตอนนี้ฐานผู้ใช้เริ่มนิ่งไม่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเหมือนหลายปีก่อน การขยายบริการให้ผู้ใช้ได้ใช้งานได้ถี่ขึ้นจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “LIFE ON LINE”

 

จากวิสัยทัศน์ “Life on LINE” ในครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของ LINE ก็ต้องมารอดูกันต่อไปว่าจะสำเร็จไปถึงขั้นไหน และประเทศไทยจะได้มีโอกาสได้ใช้บริการเหล่านี้เมื่อไหร่...

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก mgronline

Created : 05/07/2019

บทความที่น่าสนใจ

ทำไมต้องปรับปรุง เว็บไซต์ ให้โหลดเร็ว

SEO ดีอย่างไรนั้น ถ้าอยากให้ ธุรกิจ ยอดขายพุ่ง ต้องดูเลย


phone line chat_facebook